ลำดับ

ถาม-ตอบ ข้อสงสัย

ข้อมูล ณ วันที่

1)

ถาม  :  หน่วยงานจัดทำใบสั่งซื้อกับร้านค้าและมีเจ้าของกิจการ (ตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ลงนามเป็นคู่สัญญา หากจะชำระเงินสามารถจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่เป็นชื่อบัญชีของเจ้าของกิจการ (บัญชีส่วนตัว) ได้หรือไม่ ?


ตอบ :  ไม่สามารถทำได้ การจ่ายเงินต้องจ่ายให้คู่สัญญาเท่านั้น ยกเว้นเป็นกรณีร้านค้าที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งคู่สัญญาคือเจ้าของกิจการ 

“หลักฐานการจ่าย” หมายความว่า หลักฐานที่แสดงว่าได้มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับหรือเจ้าหนี้ตามข้อผูกพันโดยถูกต้องแล้ว


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 4

31 มี.ค. 2563

2)

ถาม  :   กรรมการเก็บรักษาเงิน มีหน้าที่ถือกุญแจ รหัสตู้นิรภัยและตรวจนับเงินใช่หรือไม่ ?


ตอบ :    กรรมการเก็บรักษาเงินเป็นผู้ถือกุญแจ และตรวจนับเงินสดคงเหลือประจำวัน ส่วนรหัสตู้นิรภัยจะอยู่กับเจ้าหน้าที่การเงิน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 86 - 98

31 มี.ค. 2563

3)

ถาม  :  หากหัวหน้าหน่วยงานจะรับโอนเงินค่าบริการต่าง ๆ เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารส่วนตัว แล้วจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินรายได้ของหน่วยงานแทนการนำเงินฝากธนาคาร เนื่องจากการเดินทางไปธนาคารใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน ลักษณะดังกล่าวจะดำเนินการได้หรือไม่ ?


ตอบ :  การรับโอนเงินของหน่วยงานเข้าบัญชีส่วนตัวไม่ควรปฏิบัติ เนื่องจากการรับเงินของหน่วยงานทุกประเภทจะต้องนำฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของหน่วยงานเท่านั้น และถือว่ามีความเสี่ยงในด้านการรับเงิน ในกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานไม่โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของหน่วยงาน ผู้โอนเงินจะไม่สามารถฟ้องร้องมหาวิทยาลัยได้


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วย การงบประมาณ การเงิน การพัสดุ ทรัพย์สิน และการตรวจสอบ พ.ศ. 2559 หมวด 4

31 มี.ค. 2563

4)

ถาม  :   กรณีผู้ขายเป็นบุคคลทั่วไป ไม่มีใบเสร็จรับเงินหรือบิลเงินสด สามารถใช้ใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐานเบิกจ่ายสำหรับวงเงินเกิน 500 บาท ได้หรือไม่ ?


ตอบ :  หากผู้ขายไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินหรือบิลเงินสดได้ สามารถใช้ใบสำคัญรับเงินและต้องลงชื่อผู้รับเงินในใบสำคัญรับเงินประกอบการเบิกจ่าย ทั้งนี้ ควรระบุเหตุผลที่ต้องใช้ใบสำคัญรับเงิน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 47 


31 มี.ค. 2563

5)

ถาม  :    การเบิกจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มโดยใช้บิลเงินสด แต่ไม่มีชื่อร้านค้า และไม่ได้แนบสำเนาบัตรประชาชนสามารถเบิกจ่ายได้หรือไม่ ?


ตอบ :      ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เนื่องจากองค์ประกอบไม่ครบถ้วน คือไม่ได้ระบุชื่อร้านหรือชื่อผู้ค้าที่ชัดเจนและไม่ได้แนบสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งบิลเงินสดที่ถูกต้องนั้นต้องประกอบด้วย

   1. ชื่อร้านค้า เลขที่ตั้ง เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถตรวจสอบได้

   2. มีเล่มที่/เลขที่ และลงวันที่

   3. รายละเอียด เช่น ค่าวัสดุอะไรบ้าง ค่าจ้างเหมาอะไรบ้าง

   4. ชื่อผู้ซื้อ

   5. ต้องไม่มีรอยลบหรือแก้ใดๆ ถ้ามี ต้องมีลายมือชื่อเจ้าของร้านกำกับพร้อมประทับตรา

   6. ลายมือชื่อผู้รับเงินและผู้จ่ายเงิน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 46


31 มี.ค. 2563

6)

ถาม  :   หน่วยงานมีการจ้างเหมาปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งตรวจรับเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในขั้นตอนการจ่ายเงิน แต่หน่วยงานไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ระบุในสัญญาจ้างได้ เนื่องจากผู้รับจ้างประสบปัญหาการบริหารจัดการภายใน เหตุดังกล่าวหน่วยงานควรดำเนินการอย่างไร ?


ตอบ :   จากเหตุดังกล่าวเป็นปัญหาภายในของผู้รับจ้าง หน่วยงานควรถือปฏิบัติ ดังนี้

   1. ให้เจ้าหน้าที่การเงินทำหนังสือรายงานเสนอต่อผู้บริหาร กรณีการโอนเงินค่าจ้างงานให้กับคู่สัญญาไม่ได้ พร้อมชี้แจงสาเหตุว่าเกิดจาก บัญชีธนาคารที่ผู้รับจ้างแจ้งต่อหน่วยงานไม่มีการเคลื่อนไหวเกินระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด 

   2. ให้เจ้าหน้าที่การเงินทำหนังสือให้ผู้บริหารลงนามเพื่อแจ้งให้คู่สัญญาทราบถึงปัญหาการโอนเงินให้คู่สัญญาไม่ได้ พร้อมแจ้งให้คู่สัญญามาทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อคู่สัญญาประสงค์เปลี่ยนเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร ทั้งนี้บัญชีที่แจ้งใหม่ต้องเป็นบัญชีที่เปิดเป็นชื่อคู่สัญญาและผู้ที่ลงนามในข้อตกต้องเป็นผู้มีอำนาจของคู่สัญญาเท่านั้น

   3. ข้อพึงระมัดระวังในการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องให้คู่สัญญาแสดงรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากธนาคารที่เป็นสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์พร้อมแนบรายการเคลื่อนไหวไม่เกิน 6 เดือน หรือสำเนา Statement ของเงินฝากธนาคารประเภทกระแสรายวัน ซึ่งมีรายการเคลื่อนไหวไม่เกิน 6 เดือน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 มาตรา 315 และ มาตรา 453


30 มิ.ย. 2563

7)

ถาม  :   เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทำให้มีการยกเลิกการสอบที่เปิดสอบโดยหน่วยงานและมีนักศึกษาได้ชำระเงินค่าสมัครสอบพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่การเงินออกใบเสร็จให้เรียบร้อยแล้ว หากหน่วยงานจะคืนเงินค่าสมัครสอบให้นักศึกษาเนื่องจากมีการยกเลิกการสอบดังกล่าว จะต้องดำเนินการอย่างไร ?


ตอบ :   ให้ผู้รับผิดชอบกิจกรรม/โครงการ ดำเนินการดังนี้

  1. ขออนุมัติยกเลิกการจัดสอบและคืนเงินให้กับผู้สมัครสอบต่อผู้มีอำนาจ โดยระบุเหตุผลและความจำเป็นในการยกเลิก 

  2. จัดทำเอกสารคำร้องขอคืนเงินค่าสมัครสอบ โดยให้ระบุเลขที่บัญชีธนาคารของผู้สมัครสอบในใบคำร้องด้วย

  3. แจ้งผู้สมัครสอบให้ติดต่อขอรับเงินคืนโดยให้บันทึกข้อมูลในใบคำร้องและส่งคืนใบเสร็จรับเงินฉบับจริง (หลักฐานการจ่ายเงินค่าสมัครสอบ) โดยกำหนดช่วงระยะเวลาดำเนินการให้ชัดเจน

  4. รวบรวมข้อมูลใบคำร้องและหลักฐานการรับเงิน เสนอผู้มีอำนาจเพื่อขออนุมัติโอนเงินคืนผู้สมัครสอบ โดยแนบเอกสารประกอบ ดังนี้

    4.1 ใบคำร้องขอเงินรับเงินค่าสมัครสอบคืน

    4.2 ใบเสร็จฉบับจริงที่ผู้สมัครสอบส่งคืน

    4.3 โครงการกิจกรรมต้นเรื่องพร้อมรายชื่อผู้สมัครสอบ

    4.4 หนังสือขออนุมัติยกเลิกการจัดสอบและคืนเงินให้กับผู้สมัครสอบ

  5. เมื่อได้รับอนุมัติตาม ข้อ 4. ให้เจ้าหน้าที่การเงินดำเนินการโอนเงินคืนผู้สมัครสอบ  


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 35 – 43 


30 มิ.ย. 2563

8)

ถาม  : 

1. ผู้ประกอบการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานสำหรับดำเนินงานของโครงการ/กิจกรรม โดยได้รับค่าตอบแทนตามงวด 

2. ผู้ประกอบการมาใช้ห้องปฏิบัติการที่หน่วยงานและได้รับเงินค่าเช่าโดยออกใบเสร็จรับเงินค่าเช่าห้องปฏิบัติการ 


หน่วยงานจะสามารถนำใบเสร็จรับเงินมาเบิกกับหน่วยงานได้หรือไม่ ?


ตอบ :  สามารถใช้ใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการการเบิกจ่ายได้ โดยใบเสร็จรับเงินต้องมีรายการ ครบ 5 องค์ประกอบตามที่กระทรวงการคลังกำหนด คือ  

1. ชื่อสถานที่อยู่ที่ทำงานของผู้ริบเงิน

2. วันเดือนปี ที่รับเงิน

3. รายการแสดงการรับเงินระบุว่าเป็นค่าอะไร 

4. จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษร

5. ลายมือชื่อของผู้รับเงิน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 46


30 มิ.ย. 2563

9)

ถาม  :   การเบิกค่าที่พัก สามารถใช้สำเนาใบเสร็จรับเงินที่พักเบิกจ่ายเงินได้หรือไม่ ?


ตอบ :   สามารถใช้เป็นหลักฐานการเบิกจ่ายได้ โดย ทำหนังสือเสนอต่อผู้อำนวยการกองคลัง ในการขอขออนุมัติใช้สำเนาใบเสร็จรับเงินฯ เป็นหลักฐานขอเบิก ทั้งนี้ผู้เบิกต้องรับรองตนเองว่าจะไม่นำมาเบิกซ้ำและระบุเหตุผลความจำเป็นในการใช้สำเนาฯ


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. คำสั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ 1224/2558 เรื่อง มอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี


30 มิ.ย. 2563

10)

ถาม  :   การแต่งตั้งกรรมการเก็บรักษาเงิน สามารถแต่งตั้งมากกว่า 2 คนได้หรือไม่ และต้องปฏิบัติหน้าที่คราวละกี่คน ?


ตอบ :  การแต่งตั้งกรรมการเก็บรักษาเงิน สามารถแต่งตั้งมากกว่า 2 คนได้ และปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อยคราวละ 2 คน ถ้ากรรมการเก็บรักษาเงินผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มีชื่อในคำสั่งแต่งตั้งหรือกรรมการสำรองปฏิบัติหน้าที่แทนเพื่อให้ครบจำนวน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 86 และ 88

30 ก.ย. 2563

11)

ถาม  :   การทดรองจ่ายเงินส่วนตัว สำหรับค่าปรับปรุงห้องเรียน จ่ายได้หรือไม่ ?


ตอบ :  

1. ทดรองจ่ายเงินสดได้ หากการทดรองจ่ายนั้นไม่เป็นภาระแก่ผู้จ่ายเงิน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงานในเรื่องประหยัดงบประมาณรายจ่าย กรณีจ่ายเป็นเงินสดซึ่งสามารถจัดจ้างได้ถูกกว่าการเบิกจ่ายตามระบบเบิกจ่ายเงินของมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ

   2. ในการจัดจ้าง ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

   3. การจ่ายเงินทุกกรณี หน่วยงานผู้เบิกมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องหักภาษีใดๆ ณ ที่จ่าย ตามประกาศที่กรมสรรพากรกำหนด


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วย การงบประมาณ การเงิน การพัสดุ ทรัพย์สิน และการตรวจสอบ พ.ศ. 2559 ข้อ 28 -29 
  2. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 19 
  3. หนังสือกองคลัง ศธ 0514.1.2.4/29 ลงวันที่ 6 มกราคม 2557 เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณียืมเงินทดรองจ่ายและใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่าย


31 มี.ค. 2564

12)

ถาม  :   บุคลากรปฏิบัติงานแบบ work from home เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ส่งผลให้กรรมการเก็บรักษาเงินไม่สามารถเปิดปิดตู้นิรภัยได้ทุกวันตามหน้าที่ในคำสั่งแต่งตั้ง ต้องดำเนินการอย่างไร ?


ตอบ :  กรรมการเก็บรักษาเงิน ต้องรายงานต่อผู้บริหารให้ทราบถึงสาเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และแจ้งแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อเป็นการควบคุมทดแทนวิธีการปฏิบัติแบบเดิม และแนวปฏิบัติดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากผู้บริหารของหน่วยงานก่อนถือปฏิบัติ 


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. แนวปฏิบัติเพื่อการควบคุมภายในที่ดี


30 มิ.ย. 2564

13)

ถาม  :   กรณีคณะขายสินค้าให้แก่หน่วยงานวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเช่นกัน และหน่วยงานวิสาหกิจได้จ่ายเงินโดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินรายได้คณะ (บัญชีที่กองคลังดูแล) ไม่ได้ทำบันทึกขอตัดโอนระหว่างกันไปยังกองคลัง 

กรณีนี้ คณะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรู้รายได้จากการขายนี้อย่างไร และคณะต้องออกใบเสร็จรับเงินให้กับหน่วยงานวิสาหกิจหรือไม่ ?


ตอบ :  คณะต้องรับรู้รายได้จากการขาย และนำส่งเงินรายได้ต่อกองคลังเช่นกันกับรายการรายรับปกติของคณะ แต่ต้องระบุว่าเป็นการขายให้แก่วิสาหกิจภายใต้มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ชัดเจน เพื่อให้งานบัญชีกองคลังสามารถจำแนกข้อมูลและบันทึกบัญชีรายได้ระหว่างกันอย่างครบถ้วนและถูกต้อง 

กรณีออกใบเสร็จรับเงิน หากคณะไม่สามารถออกเอกสารอื่นที่มีลักษณะทดแทนใบเสร็จรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานในการรับรู้รายได้ของคณะได้ ก็สามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ แต่รายการในใบเสร็จรับเงินต้องระบุชื่อผู้จ่ายเงินถูกต้อง และกำกับว่าเป็นรายการระหว่างกันให้ชัดเจน 


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. เอกสารการจัดการความรู้ ระบบบัญชี KKUFMIS เพื่อการปฏิบัติ งานโดยกองคลัง สำนักงานอธิการบดี มข. (หน้า 17 กล่าวถึงแหล่งที่มาของข้อมูลทางบัญชี ข้อ 5 รายได้ระหว่างกัน)

*** ที่มา : https://finance.kku.ac.th/pic/7download/km_acc_kkufmis_100756.pdf ***


30 มิ.ย. 2564

14)

ถาม  :   รายการเงินรับโอนเข้าบัญชีเงินรายได้คณะ (กองคลังดูแล) ที่ยังไม่ออกใบเสร็จรับเงินและนำส่งเป็นเงินรายได้มหาวิทยาลัย (คณะ) ซึ่งเป็นเงินรับโอนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 - 2563 ต้องดำเนินการอย่างไร ?


ตอบ :  หน่วยงานควรดำเนินการดังนี้ 

1. ต้องตรวจสอบรายการจนทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้โอนเงิน หรือเมื่อได้ติดตามกับธนาคารแล้วแต่ยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของเงินโอนได้ ควรจัดทำรายละเอียดรายงานและขออนุมัติปรับปรุงรายการเพื่อออกใบเสร็จรับเงิน นำส่ง และรับรู้เป็นรายได้ของคณะ ซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดจากเงินโอนปีก่อนที่มหาวิทยาลัยปิดบัญชีประจำปีงบประมาณแล้ว 

2. ต้องทำหนังสือแจ้งให้งานบัญชีกองคลังทำการปรับปรุงรายการเงินโอนปีก่อนที่ออกใบเสร็จรับเงินและนำส่งเงินในปีงบประมาณ 2564 นั้น จากรายได้อื่นเป็นทุนสำรองสะสม เนื่องจากเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในปีก่อน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. แนวปฏิบัติจากงานบัญชีกองคลัง


30 ก.ย. 2564

15)

ถาม  :  

1. หน่วยงานเคยดำเนินการปรับปรุงรายการเงินรับโอนที่ไม่ทราบที่มา ซึ่งเป็นเงินที่รับโอนในปีงบประมาณ 2562 

2. ออกใบเสร็จรับเงินรับรู้เป็นรายได้อื่นของหน่วยงานในปีงบประมาณ 2563 

3. แต่ในปีงบประมาณ 2564 มีนักศึกษามาแสดงหลักฐานการโอนเพื่อขอรับใบเสร็จรับเงินจากยอดเงินโอนดังกล่าว 


หน่วยงานจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้รายการดังกล่าวถูกต้อง ?


ตอบ :  

1. หน่วยงานไม่ควรออกใบเสร็จรับเงินฉบับใหม่ แต่ควรจัดทำเป็นหนังสือบันทึกข้อความระบุรายละเอียดวันที่รับโอนเงิน จำนวนเงินที่รับโอน และเลขที่ วันที่ใบเสร็จรับเงินที่ออกแล้วนั้น

2. ระบุข้อความในบันทึกว่าเป็นการออกแทนใบเสร็จรับเงินให้ชัดเจน

3. ลงนามบันทึกข้อความโดยผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน

เนื่องจากรายการเงินรับโอนดังกล่าวผ่านการอนุมัติให้ปรับปรุงรายการโดยผู้บริหารสูงสุด โดยได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามหน่วยงาน เพื่อรับรู้รายได้และนำเงินส่งคลังในปีงบประมาณ 2563 ถือว่าได้ดำเนินการบันทึกรายการถูกต้องแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้ปิดบัญชีประจำปีงบประมาณแล้ว ทำให้การแก้ไข มีความยุ่งยาก ซับซ้อน การออกหนังสือบันทึกข้อความลงนามโดยผู้บริหารสูงสุดทดแทนให้แก่ผู้โอนเงิน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ไม่มีระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นวิธีการปฏิบัติงาน


30 ก.ย. 2564

16)

ถาม  :  รายงานเงินคงเหลือประจำวัน หากวันใดไม่มีการรับเงิน ต้องมีการรายงานหรือไม่ ?


ตอบ :  หากวันใดไม่มีการรับเงิน อาจไม่ทำรายงานเงินคงเหลือประจำวันสำหรับวันนั้นก็ได้


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าด้วยการงบประมาณ การเงิน การพัสดุ ทรัพย์สิน และการตรวจสอบ พ.ศ. 2559 ข้อ 26


12 ก.ย. 2567


บทความนี้มีประโยชน์กับท่านมากน้อยเพียงใด ?

[ ผู้โหวตทั้งหมด : 20 คะแนนเฉลี่ย : 4.7 ]