ลำดับ | ถาม-ตอบ ข้อสงสัย | ข้อมูล ณ วันที่ |
---|---|---|
1) | ถาม : หน่วยงานต้องการเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อครุภัณฑ์จากโปรเจคเตอร์เป็นจอทีวี เนื่องจากได้มีการปรับปรุงห้อง หลังปรับปรุงได้พิจารณาแล้วว่าควรซื้อเป็นจอทีวีจะสามารถใช้งานได้เหมาะสมกับห้องมากกว่า โดยใช้งบประมาณไม่เกินราคาของโปรเจคเตอร์ สามารถจัดซื้อได้หรือไม่และใครเป็นผู้อนุมัติ ? ตอบ : สามารถจัดซื้อได้ โดยต้องดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อต่อคณบดี เนื่องจากไม่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรร แต่หากการจัดซื้อนั้นเกินวงเงินที่ได้รับจัดสรร ต้องขออนุมัติงบประมาณและขอเปลี่ยนแปลงรายการต่ออธิการบดี กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2563 |
2) | ถาม : การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับพัสดุประจำปี และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ สามารถดำเนินการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการในชุดคำสั่งเดียวกันได้หรือไม่ ? โดยกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจนับพัสดุประจำปี ไม่ได้ปฏิบัติงานตรวจนับพัสดุประจำปีทุกคน แต่จะให้ปฏิบัติงานในการตรวจรับพัสดุภายในปีงบประมาณแทน ตอบ : การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับพัสดุประจำปี และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการในชุดคำสั่งเดียวกันได้ เนื่องจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน โดยคณะกรรมการตรวจนับพัสดุประจำปี จะทำหน้าที่ตรวจนับพัสดุประจำปีเมื่อสิ้นปีงบประมาณ เพื่อรายงานความถูกต้อง ครบถ้วน ของพัสดุหน่วยงานตามทะเบียนคุมพัสดุต่อหัวหน้าส่วนงาน ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งปีละ 1 ครั้ง ส่วนคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรายครั้งที่มีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ เพื่อทำหน้าที่ตรวจรับพัสดุที่หน่วยงานจัดซื้อให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงตามข้อตกลงของการจัดซื้อ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2563 |
3) | ถาม : หน่วยงานได้ทำข้อตกลงการจัดจ้างกับผู้รับจ้าง โดยผู้รับจ้างได้ดำเนินการตามข้อตกลงจ้างเรียบร้อยแล้ว แต่หน่วยงานได้ขอให้ผู้รับจ้างทำงานให้เพิ่มเติมในบางส่วน ซึ่งไม่ได้อยู่ในข้อตกลงจ้าง เมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานตามข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว กรรมการตรวจรับงานจ้างต้องลงวันที่ใด ระหว่างวันที่ตรวจรับงานตามข้อตกลง หรือวันที่ผู้รับจ้างดำเนินงานในส่วนที่หน่วยงานขอให้ทำเพิ่มเติมแล้วเสร็จ ? ตอบ : กรรมการตรวจรับงานจ้างต้องลงวันที่ตรวจรับตามที่ได้ตรวจรับจริง โดยรายละเอียดการพิจารณาการตรวจรับให้เป็นไปตามข้อตกลงจ้าง ส่วนกรณีที่หน่วยงานขอให้ผู้รับจ้างทำงานให้เพิ่มเติมนั้น ไม่ได้อยู่ในสัญญาจ้างหรือข้อตกลงจ้าง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2563 |
4) | ถาม : การขายครุภัณฑ์ชำรุดไม่ต้องแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ผู้บริหารอนุมัติขายได้เลยหรือไม่ ? ตอบ : การขายครุภัณฑ์ชำรุดต้องแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบสภาพของครุภัณฑ์ว่ามีความชำรุดหรือหมดความจำเป็นต้องใช้งานจริงหรือไม่ ก่อนการจำหน่าย แล้วรายงานต่อผู้บริหารทราบ เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการจำหน่ายได้ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2563 |
5) | ถาม : หน่วยงานต้องการจ้างมูลนิธิเพื่อทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาจารย์ผู้อยู่ในทีมวิจัยเป็นผู้มีรายชื่อในคณะกรรมการมูลนิธิและวัตถุประสงค์การจัดตั้งมูลนิธิไม่มีข้อไหนที่ระบุว่าให้มีอาชีพรับจ้าง จากที่กล่าวมา หน่วยงานสามารถจัดจ้างมูลนิธิได้หรือไม่ ? ตอบ : ไม่สามารถดำเนินการจ้างมูลนิธิได้ เนื่องจาก 1. การจ้าง ต้องจ้างผู้มีอาชีพโดยตรง 2. การจัดตั้งมูลนิธิไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารายได้ 3. การที่อาจารย์ผู้อยู่ในทีมวิจัย เป็นผู้มีรายชื่อในคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้รับจ้างโดยตรง การจ้างดังกล่าวเป็นการจ้างที่ขัดกับหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หลักธรรมาภิบาล กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2563 |
6) | ถาม : การจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่ามากกว่า 20,000 บาท ต้องจัดซื้อเป็นพัสดุแบบใด ? ตอบ : จัดซื้อเป็นครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เพราะ รายจ่ายเพื่อจัดหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีราคาต่อหน่วยหรือต่อชุดเกินกว่า 20,000 บาท ถือเป็นรายจ่ายค่าครุภัณฑ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2563 |
7) | ถาม : การจ้างเหมาซ่อมรถยนต์สามารถใช้การดำเนินการจ้าง ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 119 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2561 ได้หรือไม่ ? ตอบ : ไม่สามารถดำเนินการจ้างซ่อมตามหนังสือที่อ้างได้ เนื่องจากการจ้างเหมาซ่อมรถยนต์ ไม่อยู่ในรายการลำดับที่ 1 – 15 ของตารางที่ 1 ในหนังสือที่อ้างถึง ดังนั้น การจ้างเหมาซ่อมรถยนต์ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2563 |
8) | ถาม : การริบหลักประกันสัญญา สามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร ? ตอบ : การริบหลักประกันสัญญา ดำเนินการได้กรณีจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง โดยหน่วยงานของรัฐแจ้งการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงไปยังคู่สัญญาโดยเร็ว การบอกเลิกสัญญาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับแจ้งการปรับและริบหลักประกันสัญญาหรือข้อตกลง (ถ้ามี) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2563 |
9) | ถาม : การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการจัดซื้อครุภัณฑ์ ตั้งไว้ในหมวดค่าใช้สอย สามารถดำเนินการจัดซื้อได้หรือไม่ ? ตอบ : ดำเนินการจัดซื้อได้ โดยต้องขออนุมัติต่อคณบดีเพื่อเปลี่ยนแปลงหมวดรายจ่ายเป็นงบลงทุน-ค่าครุภัณฑ์ ก่อนดำเนินการจัดซื้อ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2563 |
10) | ถาม : หน่วยงานมีการจ้างเหมาให้ขนย้ายของจากอาคารสำนักงานเดิมมาอาคารสำนักงานใหม่ ณ วันขนย้ายจริงไม่สามารถขนย้ายมาได้ทั้งหมด เนื่องจากอาคารสำนักงานใหม่สถานที่บางส่วนยังไม่พร้อมจัดเก็บ ผู้รับจ้างสามารถขนย้ายของมาได้บางส่วน สามารถเบิกจ่ายเฉพาะส่วนที่ขนย้ายแล้วเสร็จได้หรือไม่ ? ตอบ : สามารถเบิกจ่ายได้ตามจำนวนงานที่แล้วเสร็จ โดยให้คณะกรรมการตรวจรับ ตรวจรับตามจำนวนที่ขนย้ายเรียบร้อยแล้ว พร้อมอธิบายสาเหตุที่ยังไม่สามารถขนย้ายให้ครบตามจำนวนที่จ้างเหมาได้ และให้เบิกจ่ายตามอัตรางานที่แล้วเสร็จเท่านั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2563 |
11) | ถาม : การจัดทำรายงานขอซื้อขอจ้างในระบบ KKUFMIS หากไม่มีประเภทสินค้าที่ต้องการจัดซื้อให้เลือก เช่น ต้องการเลือกรายการชุดโต๊ะทำงานผู้บริหาร ประเภทสินค้าครุภัณฑ์สำนักงาน แต่ในระบบมีรายการชุดโต๊ะทำงานผู้บริหาร ประเภทสินค้า ครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ สามารถปรับเปลี่ยนประเภทสินค้า เองได้หรือไม่ อย่างไร ? ตอบ : ไม่สามารถปรับเปลี่ยนรายการเองได้ โดยหน่วยงานจะต้องแจ้งไปที่งานพัสดุ กองคลัง เพื่อขอเพิ่มรายการสินค้าและประเภทสินค้าที่จะจัดซื้อ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2563 |
12) | ถาม : การจำหน่ายครุภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบ (ครุภัณฑ์ชุด) กรณีการรับเข้าทะเบียนทรัพย์สิน (KKUFMIS) กำหนดหมายเลขครุภัณฑ์เป็นเลขเดียวกันทุกรายการในชุดนั้น หากมีรายการครุภัณฑ์บางรายการในชุดนั้นชำรุด สามารถแยกจำหน่ายแต่ละรายการครุภัณฑ์นั้นได้หรือไม่ ? ตอบ : ไม่สามารถจำหน่ายแยกรายการครุภัณฑ์นั้นได้ เนื่องจากรายการทรัพย์สินที่กล่าวถึงมีหมายเลขครุภัณฑ์หมายเลขเดียว หากจำหน่ายแล้ว เมื่อต้องตัดจ่ายออกจากทะเบียนทรัพย์ทรัพย์สิน (KKUFMIS) จะทำให้ทุกรายการในชุดนั้นถูกตัดออกจากทะเบียน เพิ่มเติม การรับเข้าทะเบียนทรัพย์สินในกรณีครุภัณฑ์ชุด จะต้องทำการแยกหมายเลขครุภัณฑ์ในแต่ละรายการตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำรายงานขอซื้อขอจ้างในระบบ KKUFMIS ถึงจะสามารถแยกจำหน่ายรายการครุภัณฑ์นั้นๆได้ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2563 |
13) | ถาม : การเรียกทำสัญญากรณีจัดซื้อจัดจ้างพัสดุด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง จะต้องรอล่วงพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ 7 วันทำการหลังประกาศผู้ชนะหรือไม่ ? ตอบ : ไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลาอุทธรณ์ เนื่องจากได้รับยกเว้น เพราะสามารถลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 (1) (ค) หรือการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนด ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 96 วรรค 2 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2563 |
14) | ถาม : การจัดซื้อจัดจ้างวิธีเฉพาะเจาะจง มาตรา 56 (2) (ข) วงเงินไม่ถึง 100,000 บาท ต้องจัดทำใบสั่งซื้อสั่งจ้างหรือไม่ ? ตอบ : การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง มาตรา 56 (2) (ข) ที่มีวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท จะไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือไว้ต่อกันก็ได้ แต่ต้องมีหลักฐานในการจัดซื้อจัดจ้างนั้น หรือกรณีหัวหน้าส่วนงาน หรือผู้ได้รับมอบอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็น เพื่อประโยชน์ของราชการ อาจพิจารณาจัดทำข้อตกลงเป็นหนังสือหรือสัญญาไว้ต่อกันก็ได้ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 ก.ย. 2563 |
15) | ถาม : ใบเสร็จรับเงินค่าซื้อสินค้ามีรายละเอียดรายการพัสดุไม่ตรงกับรายละเอียดพัสดุที่ระบุไว้ในรายงานขอซื้อขอจ้าง ตัวอย่างเช่น รายงานขอซื้อขอจ้างระบุว่าขอจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค แต่ใบเสร็จรับเงินไม่มีรายการของคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค แต่เป็นรายการ CPU, Ram, Harddisk เป็นต้น สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายได้หรือไม่ ? ตอบ : ใบเสร็จรับเงิน ที่มีรายการไม่ตรงกับรายงานขอซื้อขอจ้าง ใช้ประกอบการเบิกจ่ายไม่ได้ ดังนั้น ใบเสร็จรับเงินค่าสินค้าที่ได้รับจากผู้ขาย ต้องมีรายละเอียดรายการที่ซื้อถูกต้องตรงกันกับรายงานขอซื้อขอจ้างที่ได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจ จึงจะใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายได้ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 ก.ย. 2563 |
16) | ถาม : ครุภัณฑ์สูญหาย ต้องดำเนินการอย่างไร ? ตอบ : 1. ผู้รับผิดชอบดูแลทรัพย์สินที่สูญหายต้องดำเนินการรายงานต่อผู้อำนวยการ เพื่อรับทราบและพิจารณาแต่งตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีครุภัณฑ์สูญหาย เพื่อพิจารณาเหตุอันเกิดความเสียหายนั้น 2. หน่วยงานต้องแต่งตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ประธาน 1 คน กรรมการอย่างน้อย 2 คน ซึ่งเป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานของรัฐ ทั้งนี้ การตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงอาจพิจารณาหารือเพิ่มเติมร่วมกับกองกฎหมายเพื่อให้การแต่งตั้งถูกต้องตามหลักกฎหมาย 3. การรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงให้รายงานต่ออธิการบดี โดยผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่ออธิการบดีจักได้สั่งการกองกฎหมายพิจารณา และดำเนินการตามผลการสอบข้อเท็จจริง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2564 |
17) | ถาม : หน่วยงาน 2 หน่วยงาน มีการจ้างเหมาก่อสร้างพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน โดยหน่วยงานแรกเป็นผู้ดำเนินการเรื่องขั้นตอนด้านพัสดุ (เนื่องจากหน่วยงานที่สอง ไม่ได้ใช้ระบบ KKUFMIS) หน่วยงานแรกสามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่สองร่วมในการเป็นคณะกรรมการพิจารณาผลสอบราคา และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้หรือไม่ ? ตอบ : ได้ หากเจ้าหน้าที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีคุณสมบัติตามที่ระเบียบพัสดุฯ กำหนด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 ก.ย. 2564 |
18) | ถาม : หน่วยงานจ้างบริการบริษัททัวร์ และเจ้าของโครงการยืมเงินทดรองจ่ายเพื่อชำระเงินมัดจำ จากประเด็นดังกล่าวหน่วยงานสามารถทำได้หรือไม่ ? ตอบ : สามารถทำได้ หากมีการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาหรือใบสั่งซื้อ/จ้างว่าต้องมีการชำระเงินค่ามัดจำ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2565 |
19) | ถาม : หน่วยงานมีการจัดโครงการนำนักศึกษาไปศึกษาดูงาน ณ ต่างจังหวัด เดินทางโดยเครื่องบิน เป็นการศึกษาดูงานในจังหวัดเดียวแต่หลายแห่ง มีความจำเป็นต้องจ้างรถรับจ้างสำหรับเดินทางไปศึกษาดูงานจำนวนหลายคัน และราคารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้รายการดังกล่าวได้กำหนดไว้ในโครงการ จากประเด็นดังกล่าวหน่วยงานสามารถเช่ารถตามระเบียบพัสดุได้อย่างไรบ้าง ? ตอบ : สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ เนื่องจาก 1. เป็นรายการที่ได้รับอนุมัติในโครงการหรืองบประมาณ 2. เป็นรายการที่กำหนดไว้ในตารางที่ 1 รายการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 3. การเช่ารถครั้งนั้นไม่เกิน 10,000.- บาท ส่วนแนวปฏิบัติและแบบฟอร์มให้เป็นไปตามหนังสือ ศธ 0514.1.2.6/ว 3152 ลงวันที่ 3 เมษายน 2561 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2565 |
20) | ถาม : 1. ใบสั่งซื้อสั่งจ้างต้องติดอากรแสตมป์หรือไม่ ? 2. ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการติดอากรสแตมป์ระหว่างหน่วยงานกับผู้รับจ้าง ? ตอบ : 1. กรณีการจัดจ้าง ต้องติดอากรสแตมป์ โดยยอดจัดจ้าง 1,000 บาทต่ออากรแสตมป์ 1 บาท (ส่วนการจัดซื้อไม่ต้องติด) และจากตัวอย่างที่ขอหารือมา เป็นการจัดจ้างที่มีวงเงินเกิน 200,000 บาท กรมสรรพากรกำหนดไว้ไม่ต้องติดอากรแสตมป์ แต่ให้ผู้รับจ้างชำระอากรสแตมป์เป็นตัวเงินแทน 2. ผู้รับจ้างเป็นผู้ที่รับผิดชอบต้องเสียอากร และยื่นแบบขอเสียอากร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 30 มิ.ย. 2565 |
21) | ถาม : เมื่อคู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันในสัญญาแล้ว ต้องให้คู่สัญญาทำหนังสือแจ้งขอคืนหลักประกันมายังหน่วยงานหรือไม่ ? ตอบ : ไม่จำเป็นต้องรอให้คู่สัญญาแจ้งเรื่องมา แต่เมื่อคู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันในสัญญาแล้ว ให้หน่วยงานรีบดำเนินการคืนหลักประกันสัญญาโดยเร็ว และอย่างช้าต้องไม่เกิน 15 วัน นับถัดจากวันที่คู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 25 ม.ค. 2566 |
22) | ถาม : การจ้างรถตู้ระหว่างไปสัมมนาที่ต่างจังหวัดสามารถดำเนินการจ้างได้อย่างไรบ้าง ? ตอบ : หากการจ้างรถตู้ดังกล่าวไม่เกิน 10,000 บาท หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ตามหนังสือ กค (กวจ) 0405.2/ว 119 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินการจัดหาพัสดุที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมของหน่วยงานของรัฐ ตามตารางที่ 1 ข้อ 3 หากเกินกว่า 10,000 บาท จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดจ้างตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 9 ก.พ. 2566 |
23) | ถาม : ค่าที่พักของวิทยากร ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2555 นั้น สามารถพักคนเดียวได้หรือไม่และเบิกจ่ายได้ในอัตราเท่าใด ? ตอบ : 1. พักเดี่ยวได้ ตามความในข้อ 16 (3) ของระเบียบฯ 2. อัตราการเบิกจ่าย ตาม กค 0406.4/ว 5 วันที่ 14 มกราคม 2556 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 นั้น กรณี ห้องพักคนเดียว เบิกจ่ายได้ในอัตรา 1,450 บาท/คน/วัน หรือ กรณี ห้องพักคู่ เบิกจ่ายได้ในอัตรา 900 บาท/คน/วัน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 9 ก.พ. 2566 |
24) | ถาม : การจ้างเหมาบริการรถตู้ จะต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นว่ารถตู้ที่จ้างจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ? ตอบ : การจ้างเหมาบริการรถตู้ ผู้ประกอบการ/ผู้รับจ้างจะต้องแสดงหลักฐานดังต่อไปนี้ 1. สำเนาสมุดจดทะเบียนรถ (ต้องไม่ใช่รถส่วนบุคคล) 2. สำเนารายการชำระภาษีประจำปี 3. สำเนาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ (ต้องไม่ใช่ส่วนบุคคล) 4. สำเนา พรบ.รถตู้ 5. สำเนาประกันภัยรถยนต์ (ถ้ามี) เพื่อแสดงให้เห็นว่ารถตู้ดังกล่าวเป็นรถโดยแบบไม่ประจำทาง และผู้ขับขี่รถยนต์ได้รับอนุญาตประเภทสาธารณะหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 9 ก.พ. 2566 |
25) | ถาม : กรณีที่สินทรัพย์หมดความจำเป็นใช้งาน ต้องการจำหน่ายออกจากบัญชี ต้องดำเนินการอย่างไร ? ตอบ : ดำเนินการตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 2585/2564) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดําเนินการเกี่ยวกับการสอบหาข้อเท็จจริง และการจําหน่ายพัสดุ ชํารุด เสื่อมสภาพ และหมดความจําเป็นในการใช้งาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 31 มี.ค. 2566 |
26) | ถาม : หน่วยงานจะคืนหลักประกันสัญญาประเภทเงินสดให้กับคู่สัญญา จำเป็นหรือไม่ที่คู่สัญญาจะต้องใบเสร็จรับเงินให้กับหน่วยงาน ทั้งนี้ ณ วันที่รับเงินหลักประกันสัญญา หน่วยงานได้ออกใบเสร็จรับเงินและให้คู่สัญญาเก็บต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน และบันทึกบัญชีเจ้าหนี้ (หมวด หนี้สิน) ? ตอบ : คู่สัญญาไม่ต้องออกใบเสร็จรับเงินใหักับหน่วยงานซ้ำอีก ส่วนการขอส่งคืนหลักประกันสัญญา หน่วยงานต้องทำหนังสือขออนุมัติการคืนหลักประกันสัญญา พร้อมแนบต้นฉบับใบเสร็จรับเงินเพื่อขออนุมัติต่อผู้บริหาร และควรเก็บหลักฐานการโอนเงินคืน สำเนาหนังสือส่งคืนหลักประกันสัญญา ประกอบการบันทึกรายการทางบัญชีต่อไป กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 3 เม.ย. 2566 |
27) | ถาม : จากที่มหาวิทยาลัยออกประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 151/2566 เรื่อง บัญชีมาตรฐานคุณลักษณะเฉพาะพัสดุและราคากลาง (อ้างอิง) สำหรับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 1) ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นั้น ได้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์และราคากลาง (อ้างอิง) ไว้หลายหลายการ กรณีที่หน่วยงานต้องการจัดซื้อ "เครื่องคอมพิวเตอร์ All In One สำหรับประมวลผล" ต้องอ้างอิงราคากลางตามที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 4 (3) คือ จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดไว้ หรือ อ้างอิงตามประกาศมหาวิทยาลัย ฉบับที่ 151/2566 กำหนด ? ตอบ : ให้ดำเนินการอ้างอิงตามที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 4 ตาม กำหนดไว้ก่อน โดยพิจารณาลำดับการใช้ตาม (1) ก่อน กรณีไม่มี ให้ใช้ (2) (3) กรณีไม่มี (1) (2) (3) ให้ใช้ราคา (4) (5) (6) ซึ่งตาม (6) มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนด นำคุณลักษณะเฉพาะพัสดุและราคากลาง (อ้างอิง) ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 151/2566 เรื่อง บัญชีมาตรฐานคุณลักษณะเฉพาะพัสดุและราคากลาง (อ้างอิง) สำหรับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 1) ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาใช้อ้างอิงก่อน และหากพบว่าไม่มีรายการครุภัณฑ์กำหนดไว้ จึงค่อยดำเนินการสืบราคาจากท้องตลาดทั่วไป ทั้งนี้ การใช้ราคากลาง ตาม (4) (5) (6) ให้คำนึงถึงประโยชน์ของหน่วยงานเป็นสำคัญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 21 ก.ย. 2566 |
28) | ถาม : กรณีสืบราคาพัสดุจากเว็บไซต์ต่างๆเพื่อนำมากำหนดราคากลาง แต่ไม่สามารถขอใบเสนอราคาได้จากร้านค้าในเว็บไซต์ได้ สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร ? ตอบ : สามารถสืบราคาพัสดุจากเว็บไซต์ได้ โดยระบุแหล่งที่มาของราคากลางใน แบบ บก.06 ข้อ 5 พร้อมหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจ เช่น การ capture หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ การพิมพ์รายการที่สืบราคาจาก webpage โดยให้เห็นวันที่และเวลาที่สืบราคาชัดเจน ทั้งนี้ กรณีการประกาศราคากลาง ตาม แบบ บก.06 ข้อ 5 แหล่งที่มา ให้ระบุเพียง www.......... เท่านั้น ไม่ต้องระบุราคาที่ได้มาจากการสืบจากท้องตลาด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 28 ก.พ. 2567 |
29) | ถาม : หน่วยงานจัดทำใบสั่งซื้อหนังสือ 100 เล่ม เมื่อครบกำหนดส่งมอบ คู่สัญญาส่งหนังสือเพียง 40 เล่ม ส่วนที่เหลือแจ้งสงวนสิทธิไปแล้ว หนังสือจำนวน 40 เล่ม ที่ได้รับการส่งมอบจากคู่สัญญาสามารถตรวจรับโดยไม่คิดค่าปรับและส่งเบิกจ่ายเงินได้หรือไม่ ? ตอบ : ไม่ได้ เนื่องจากตามระเบียบพัสดุฯ หมวด 6 ข้อ 175 (5) ระบุว่าในกรณีที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างส่งมอบพัสดุถูกต้องแต่ไม่ครบจํานวน หรือส่งมอบครบจํานวนแต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด ถ้าสัญญาหรือข้อตกลงมิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ตรวจรับไว้เฉพาะจํานวนที่ถูกต้อง โดยถือปฏิบัติตาม (4) คือ 1.ให้รับพัสดุและจัดทำใบตรวจรับโดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 2 ฉบับ มอบแก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง 1 ฉบับ และเจ้าหน้าที่ 1 ฉบับ 2.การเบิกจ่ายเงินตามระเบียบฯและรายงานให้ผู้มีอำนาจรับทราบ และให้รีบรายงานผู้มีอำนาจผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทราบภายใน 3 วันทําการ นับถัดจากวันตรวจพบ แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิ์หน่วยงานที่จะปรับผู้ขายหรือผู้รับจ้างในจํานวนที่ส่งมอบไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 12 มิ.ย. 2567 |
30) | ถาม : หน่วยงานจัดโครงการสัมมนาวิชาการวิชาชีพ มีหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมสัมมนา มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดหาของที่ระลึกจำนวน 34,000 บาท และคาดว่าจะจัดซื้อตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร จากข้อมูลจะเห็นว่ามูลค่าการจัดซื้อในคราวเดียวมูลค่าเกิน 10,000 บาท ไม่สามารถใช้ตามหนังสือ ว119 หน่วยงานจะต้องจัดซื้อฯตามระเบียบพัสดุฯ หรือไม่ ? ตอบ : หน่วยงานต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อตามระเบียบพัสดุฯ เนื่องจากมูลค่าการจัดซื้อจัดหาเกิน 10,000 บาท โดยผู้รับผิดชอบโครงการต้องแจ้งขอจัดหาวัสดุที่ต้องการจัดซื้อพร้อมระบุเหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์การจัดซื้อจัดหาให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้พิจารณาได้อย่างถูกต้อง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 11 ก.ย. 2567 |
31) | ถาม : การจัดซื้อเครื่องปรับอากาศต้องใช้ราคาอ้างตามแหล่งใด ระหว่างบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ สำนักงบประมาณกับประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 151/2566 เรื่อง บัญชีมาตรฐานคุณลักษณะเฉพาะพัสดุและราคากลาง (อ้างอิง) สำหรับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 1) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตอบ : หากบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ สำนักงบประมาณมีกำหนดราคากลางไว้ ให้อ้างอิงตามนี้ก่อน แต่หากไม่มีแล้วต้องอ้างอิงตาม (4) (5) (6) ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้ดำเนินการอ้างอิงตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 151/2566 เรื่อง บัญชีมาตรฐานคุณลักษณะเฉพาะพัสดุและราคากลาง (อ้างอิง) สำหรับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 1) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ก่อนที่จะอ้างอิงตาม (4) หรือ (5) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
| 25 ก.ย. 2567 |
ถาม-ตอบ ข้อสงสัย (Q&A) : จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ
[ ผู้โหวตทั้งหมด : 69 คะแนนเฉลี่ย : 4.6 ]